วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

มีโอกาสได้มารู้จักกับครูเรฟ เอสควิท ผ่านทางหนังสือ
"ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ" 
การจัดการกับห้องเรียนของครูเรฟเผยให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย ไม่ใช่แต่เฉพาะวิธีการของครูเรฟเท่านั้นที่สอนเรา การที่ครูเรฟทำแบบนั้น ทำให้เราอยากจะทำแบบนี้ เราเรียกว่าการเทียบเคียงวิธีการ ขอบคุณครูเรฟที่เป็นครูของพวกเรา ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่เป็นแนวทางให้เราได้คิด ดีใจที่อ่านแล้วรู้สึกจรรโลงใจ เห็นว่าอะไรเป็นอะไร และคนเป็นครูควรจะเดินทางต่ออย่างไร สิ่งที่ครูเรฟเล่าให้ฟังในหนังสือเล่มนี้ จุดมุ่งหมายไม่ใช่การนำไปเล่าต่อให้คนอื่นฟังได้ 
แต่..สิ่งสำคัญคือการเข้าใจ ต่อยอด เทียบเคียง และการเริ่มต้นทำให้เด็กๆ เห็นว่า คุณไม่ใช่ครูโง่ๆ ที่ทำร้ายจิตใจและร่างกายของเด็ก เด็กๆ ทุกคนพร้อมที่จะรักครูของเขา แล้วครูของเขาหล่ะพร้อมไหมที่จะรักเด็กๆ อย่างจริงใจ
....มีอยู่ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่อ่านแล้วรู้สึกประทับใจมาก คือ ตอนที่ครูเรฟกำลังสอนวิชาเคมี มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งจุดไส้ตะเกียงไม่ติด เพื่อนๆ ทุกคนอยากเดินหน้าทำโครงงานต่อ แต่ครูเรฟบอกให้ทุกคนรอ "เราจะไม่ทิ้งเธอ" คำๆ นี้มีความหมายมาก ครูวิเชียรเคยพูดไว้อย่างสวยหรูว่า "เราจะไม่ทิ้งให้เด็กล้มเหลวแม้แต่เพียงคนเดียว" ตอนแรกคิดว่าแค่เรื่องเรียนอย่างเดียว 
...ใจพลันนึกถึงเด็กคนหนึ่งที่ใส่รองเท้าไม่เคยเสร็จทันเพื่อนสักที ทุกคนต้องเดินไปก่อนทุกครั้ง ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าครูวิเชียรคิดอะไร ครูเรฟคิดอะไร แล้วเราคิดอะไร หลังจากนั้นเป็นต้นมาเราจะรอเขาเสมอ ช่วยเหลือเขา ดูแลเขา "เราจะไม่ทิ้งเขา"
เราเดินทางเข้ามาใกล้ครูเรฟมากขึ้นทุกทีแล้ว แบบนี้แหละใช่เลย ^___^

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พัฒนาการเด็กอนุบาล



เด็กอายุ ๓  ปี
พัฒนาการด้านร่างกาย
๑. กระโดดขึ้นลงอยู่กับที่ได้
๒. รับลูกบอลด้วยมือและลําตัว
๓. เดินขึ้นบันไดสลับเท้าได้
๔. เขียนรูปวงกลมตามแบบได้
๕. ใชกรรไกรมือเดียวได้
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
๑. แสดงอารมณ์ตามความรู้สึก
๒. ชอบที่จะทําให้ผู้ใหญ่พอใจและได้คําชม
๓. กลัวการพลัดพรากจากผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดน้อยลง
พัฒนาการด้านสังคม
๑. รับประทานอาหารได้ด้วยตนเอง
๒. ชอบเล่นแบบคู่ขนาน (เล่นของเล่นชนิดเดียวกันแต่ต่างคนต่างเล่น)
๓. เล่นสมมติได้
๔. รู้จักรอคอย
พัฒนาการด้านสติปัญญา
๑. สํารวจสิ่งต่างๆที่เหมือนกันและต่างกันได้
๒. บอกชื่อของตนเองได้
๓. ขอความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา
๔. สนทนาโต้ตอบ/เล่าเรื่องด้วยประโยคสั้นได้
๕. สนใจนิทานและเรื่องราวต่างๆ
๖. ร้องเพลงท่องคํากลอนคําคล้องจองง่ายๆและแสดงท่าทางเลียนแบบได้
๗. รู้จักใช้คําถาม อะไร
๘. สร้างผลงานตามความคิดของตนเองอย่างง่ายๆ
๙. อยากรู้อยากเห็นทุกอย่างรอบตัว

เด็กอายุ ๔ ปี
พัฒนาการด้านร่างกาย
๑. กระโดดขาเดียวอยู่กับที่ได้
๒. รับลูกบอลได้ด้วยมือทั้งสอง
๓. เดินขึ้น ลงบันไดสลับเท้าได้
๔. เขียนรูปสี่เหลี่ยมตามแบบได้
๕. ตัดกระดาษเป็นเส้นตรงได้
๖. กระฉับกระเฉงไม่ชอบอยู่เฉย
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
๑. แสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับบางสถานการณ์
๒. เริ่มรู้จักชื่นชมความสามารถ และผลงานของตนเองและผู้อื่น
๓. ชอบท้าทายผู้ใหญ่
๔. ต้องการให้มีคนฟัง คนสนใจ
พัฒนาการด้านสังคม
๑. แต่งตัวได้ด้วยตนเอง ไปห้องส้วมได้เอง
๒. เล่นร่วมกับคนอื่นได้
๓. รอคอยตามลำดับก่อน-หลัง
๔. แบ่งของให้คนอื่น
๕. เก็บของเล่นเข้าที่ได้
พัฒนาการด้านสติปัญญา
๑. จำแนกสิ่งต่างๆ ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ได้
๒. บอกชื่อและนามสกุลของตนเองได้
๓. พยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองหลังจากได้รับคำชี้แนะ
๔. สนทนาโต้ตอบ / เล่าเรื่องเป็นประโยคอย่างต่อเนื่อง
๕. สร้างผลงานตามความคิดของตนเอง โดยมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น
๖. รู้จักใช้คำถาม "ทำไม"

เด็กอายุ ๕ ปี
พัฒนาการด้านร่างกาย
๑. กระโดดขาเดียวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องได้
๒. รับลูกบอลที่กระดอนขึ้นจากพื้นได้ด้วยมือทั้งสอง
๓. เดินขึ้น ลงบันไดสลับเท้าได้อย่างคล่องแคล่ว
๔. เขียนรูปสามเหลี่ยมตามแบบได้
๕. ตัดกระดาษตามแนวเส้นโค้งที่กำหนด
๖. ใช้กล้ามเนื้อเล็กได้ดี เช่น ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า ฯลฯ
๗. ยืดตัว คล่องแคล่ว
พัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจ
๑. แสดงอารมณ์ได้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างเหมาะสม
๒. ชื่นชมความสามารถและผลงานของตนเองและผู้อื่น
๓. ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง
พัฒนาการด้านสังคม
๑. ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง
๒. เล่นหรือทำงานโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกับผู้อื่นได้
๓. พบผู้ใหญ่ รู้จักไหว้ ทำความเคารพ
๔. รู้จักขอบคุณ เมื่อรับของจากผู้ใหญ่
๕. รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
พัฒนาการด้านสติปัญญา
๑. บอกความแตกต่างของกลิ่น สี เสียง รส รูปร่าง จำแนก และจัดหมวดหมู่สิ่งของได้
๒. บอกชื่อ นามสกุล และอายุของตนเองได้
๓. พยายามหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง
๔. สนทนาโต้ตอบ / เล่าเป็นเรื่องราวได้
๕. สร้างผลงานตามความคิดของตนเอง โดยมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นและแปลกใหม่
๖. รู้จักใช้คำถาม "ทำไม" "อย่างไร"
๗. เริ่มเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรม
๘. นับปากเปล่าได้ถึง ๒๐ 

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

เข้าใจหรือเปล่าอีกครั้ง


ทำอย่างไรถึงจะสร้างครูได้???
เหตุผลที่ต้องสร้างครู เพราะว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เริ่มที่ครู
เพราะฉะนั้น กระบวนการเรียนรู้ของครูจึงสำคัญมาก
เราต้องตั้งโจทย์กับตัวเองเสมอ มองให้เห็นตัวเอง เรียนรู้ เข้าใจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
หากเราไม่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ตนเองได้ ความรู้ที่หามาได้ก็ไร้ประโยชน์

บางห้วงขณะ เราบอกตัวเองได้ว่า ....
บางอย่างทำได้และบางอย่างทำไม่ได้ เรามีศักยภาพมากพอที่จะสอบสวนตัวเอง
ทำได้..เพราะอะไร  ถอดความรู้นั้นออกมา หมั่นทบทวนตัวเองสม่ำเสมอ อย่ามัวคอยแต่ให้คนอื่นมาถอดให้ มองตัวเองให้ชัด แล้วจะจัดการกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร? และก้าวออกจากกรอบที่ครอบตัวเองให้ได้ แยกอารมณ์และตัวตนออกจากกัน
สอบอารมณ์ ทบทวน สร้างความเข้มแข็งภายใน
ความมั่นคงทางอารมณ์สำคัญมาก คนเป็นครู เป็นพ่อแม่ ต้องชัดเจนและแข็งแรงพอ

การสร้างสังคมแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ควรเริ่มจากจุดเล็กๆ คือตัวเรา ก้าวต่อไปยังสังคมเล็กๆ ในครอบครัว เป้าหมายสุดท้ายที่เราอยากเห็น คือ ความเป็นสังคมที่ดี มีความหลากหลาย ทบทวนตัวเอง ปฏิสัมพันธ์อย่างสันติ ในความหลากหลายทางสังคม มีทั้งความสำเร็จ มีทั้งความล้มเหลว
อยากให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งสองด้าน แต่นั่น..ไม่ได้หมายความว่า ให้คุณล้มเหลวได้ตลอดไป คงไม่มีใครนอนรอคอยความล้มเหลวเพื่อแสดงตนว่าฉันมีความหลากหลาย

ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความคาดหวัง พ่อแม่คาดหวังกับลูกเสมอ
เพราะเขาคือตัวแทนของลมหายใจ เจ็บปวดทุกครั้งที่ไม่ได้ดั่งใจ
...หากเราเข้าใจว่า
ลมหายใจนี้..วันหนึ่งก็ต้องจากอ้อมอกไป
เราเลือกได้ค่ะว่าจะปล่อยให้เขาเผชิญและก้าวผ่านสิ่งต่างๆ ไป เพื่อจะยืนอยู่ในโลกอนาคตได้อย่างมั่นคงด้วยขาของเขาเอง หรือจะให้เขายืนเหยียบเท้าเราไว้เช่นนั้น จนกว่า....

ลองมองย้อนมาที่ตนเอง บุคคลต้นแบบต้องสร้างตนเองให้ชัด
ไม่ว่าคุณจะได้รับเลือกเป็นต้นแบบหรือไม่ คุณก็ต้องสร้างตนเองให้ได้
คนทุกคนล้วนมีความสำคัญ แล้วคุณจะปล่อยให้ตนเองล้มเหลวอย่างนั้นหรือ
เรียนรู้ที่จะก้าวผ่านมันไปให้ได้

หากเปรียบความสมบูรณ์ของสังคมมนุษย์เป็นดั่งป่า มีทั้งกาฝากและไม้ใหญ่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องหยุดอยู่ที่ความเป็นกาฝาก เพราะมีไม้ใหญ่ให้ร่มเงาอยู่แล้ว คุณจะปล่อยให้ตัวเองเป็นเช่นนั้นหรือ
แล้วกระบวนการพัฒนาจะมีความหมายอะไร

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

เข้าใจหรือเปล่า

ในความเป็นครู....เราจะประเมินตนเองอย่างไร???? และเด็กจะประเมินตนเองอย่างไร????


            ขั้นตอนแรก...เราต้องสำรวจตัวเอง มีอะไรบ้างที่เราผิดพลาดไปจากการตัดสินใจของเราเอง สิ่งนั้นทำให้เราได้เรียนรู้อะไร สิ่งเหล่านี้จะซึมลงไปสู่เด็กๆ ถ้าเด็กๆ ทำแบบเดียวกันนี้ เรียนรู้ที่มองหาให้เจอว่าได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผลเป็นอย่างไร ในที่สุดเด็กๆ ก็จะตัดสินเองได้ ว่าพอใจหรือไม่อย่างไร และจะพัฒนาต่ออย่างไร มีอะไรขาดหรือเกินไปเท่าไหร่ จะตัดหรือเติมต่อแบบไหน?? 
            ขั้นตอนต่อมา...ต้องสร้างสรรค์ แต่จะสร้างสรรค์อย่างไร?? สร้างสรรค์คือความแปลกแต่ความแปลกนี้ต้องสนองตอบกับตัวความรู้ ซึ่งจะเชื่อมไปถึงความเข้าใจ 
             ขั้นตอนที่สาม...ขั้นตอนของการเรียนรู้ สำคัญคือรู้อะไร และทำอะไรเป็นบ้าง ครูต้องตั้งคำถามให้เด็กๆ ได้สำรวจตัวเองอยู่เสมอๆ ใช้คำถามซ้อนคำถามไปเรื่อยๆ 
             ขั้นตอนที่สี่...มุ่งสู่ความเข้าใจ มีอะไรหล่ะที่เป็นหลักฐานแสดงว่าเข้าใจ มีการนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้อย่างไรบ้าง 
             ขั้นตอนสุดท้าย...ที่เราอยากให้เกิดคือ การแบ่งปัน ทำอย่างไรที่เด็กจะไม่นำความรู้ที่มีนั้นไปเอาเปรียบคนอื่น เรียนรู้ที่จะพึ่งพากัน ยอมรับในความหลากหลาย แลกเปลี่ยนและคงความเป็นตัวตนของตนเองอยู่ได้ อยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
             ทั้งหลายเหล่านี้ ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเสมอ และอย่าพยายามที่จะทำให้เด็กเป็นเหมือนกับเรา 

<<จงทำงานเพื่อสร้างความสุขให้กับตนเอง....ถ้าครูมีความสุุข เด็กๆ ก็จะรับความสุขจากพลังในตัวครู>>