วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

เมล็ดถั่วเขียวผจญภัย

ก่อนเปิดเทอม มีนักเรียนใหม่ตัวเล็กๆ กำลังจะเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งชุมชนกาละพัฒน์ เราคิดกันว่าจะต้อนรับพวกเขาอย่างไรดีนะ เมล็ดถั่วเขียวเล็กๆ เดินผ่านเข้ามาในห้วงความคิด ก็ดีนะ คุณครูใจดีจึงก้มลงกระซิบกับเมล็ดถั่วเขียวว่าคุณครูจะพาไปรับเด็กๆ ด้วยกันนะ
 

นี่คือที่มาของเรื่องราวการเดินทางครั้งนี้


จันทร์ ที่ 27 เมษายน 2558 วันเยี่ยมบ้านก่อนเปิดเทอมเริ่มต้นขึ้น คุณครูพกรอยยิ้มไปหาเด็กๆ ที่บ้านพร้อมกับชวนพี่เมล็ดถั่วเขียว 10 เมล็ดไปรับเด็กๆ มาอยู่ที่ชุมชนกาละพัฒน์นี้ด้วยกัน กิจกรรมเยี่ยมบ้านที่แสนเรียบง่าย คุณครูวิ่งเล่นไปทั่วทั้งบ้านตามที่เด็กๆ เชิญชวน ประหนึ่งว่าเป็นเพื่อนรักกัน พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ถึงสิ่งที่เด็กๆ สนใจ ชวนเด็กๆ พาพี่ถั่วเขียวไปนอนในกระถางใบเล็กๆ แล้วบอกกับเด็กๆ ว่าให้ช่วยปลุกพี่ถั่วเขียวให้ตื่นด้วยการรดน้ำลงไปในกระถางนั้นทุกวัน เช้า-เย็น ไม่นานพี่ถั่วเขียวก็ตื่นขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเล็กๆ น่ารัก ต้นอ่อนถั่วเขียวค่อยๆ สูงขึ้น สูงขึ้น เพื่อตามหาแสงแดดอ่อนมาหล่อเลี้ยงให้แข็งแรง ปลดปล่อยเปลือกสีเขียวๆ นั้นออก แล้วชูใบเล็กๆ ออกมาพร้อมทั้งยืดลำต้นขึ้น
 

พอถึงวันเปิดเทอม พุธ ที่ 6 พฤษภาคม 2558 ที่เด็กๆ ต้องไปโรงเรียนก็ชวนพี่ถั่วเขียวกลับมาหาคุณครูที่โรงเรียนด้วยกัน เด็กๆ รู้สึกอบอุ่นใจที่มีพี่เลี้ยงเป็นต้นถั่วเขียวเล็กๆ ติดตามมาด้วย คุณครูชวนพี่ถั่วเขียวลงในแปลงผักหลังห้องเรียน เชิญชวนให้เด็กๆ ช่วยดูแล รดน้ำ พรวนดิน ไม่นานนักพี่ถั่วเขียวก็เติบโต จนกระทั่งมีดอกสีเหลืองเล็กๆ มีแมลงต่างๆ มาร่วมชื่นชม ฝักถั่วเขียวเล็กๆ ค่อยๆ เติบโตขึ้นหลังจากที่กลีบดอกร่วงหล่นลง ไม่นานนักฝักถั่วเขียวเล็กๆ ก็ค่อยๆ อ้วนขึ้นๆ จากฝักสีเขียวเริ่มกลายเป็นฝักสีดำ

 

จันทร์ ที่ 6 กรกฎาคม 2558 คุณครูชวนเด็กๆ มาแกะดูข้างในฝักถั่วเขียว ว้าว! เจอลูกเมล็ดถั่วเขียวเล็กๆ มากมายนอนหลับอยู่ในนั้น พวกเราค่อยๆ ทยอยเก็บถั่วเขียวที่สุกแล้วทุกวันๆ จนหมดและแน่ใจว่าไม่มีฝักออกมาอีกแล้ว การกล่าวลาจึงเริ่มต้นขึ้น เด็กๆ ถามว่า ทำไมเราต้องถอนต้นถั่วเขียวออก ทำไมต้นถั่วเขียวต้องแก่ แก่แล้วก็ต้องตายใช่ไหม เด็กๆ ดูเศร้าๆ แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับความจริง พุธ ที่ 29 กรกฎาคม 2558 เมื่อเมล็ดแตงโมเริ่มเคาะประตูเบาๆ เรียกเด็กๆ ขอฉันมาอยู่กับเด็กๆ บ้างนะ เด็กๆ ก็ตัดสินใจกล่าวลาต้นถั่วเขียวแก่อย่างเป็นทางการเสียที เด็กๆ ช่วยกันถอนต้นถั่วเขียวออกเพื่อเตรียมดินสำหรับเป็นบ้านหลังใหม่ให้เมล็ดแตงโมน้อยที่คอยอยู่ พร้อมทั้งช่วยกันพรวนดินสำรวจหาพี่กิ้งกือไส้เดือนที่นอนหลับพักผ่อนอยู่ใต้ดิน
 

วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2558 จากเมล็ดถั่วเขียวเพียงสิบเมล็ดที่เติบโตขึ้นด้วยน้ำใจจากขวดพลาสติกใบเล็กที่เด็กๆ ช่วยกันรดน้ำ ตอนนี้ได้ออกลูกมามากมายนับไม่ถ้วน ว่าแต่เด็กๆ จะนับได้เท่าไหร่นะ พวกเขาพยายามนับแล้วนับอีก เยอะจริงๆ นะ ถึงจะนับไม่ไหวแต่เด็กๆ ก็ภูมิใจจังกับการเติบโตครั้งนี้ แล้วลูกๆ เมล็ดถั่วเขียวจะเดินทางไปไหนต่อดีนะ เด็กๆ คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
 

คิดไปคิดมาก็สรุปกันว่า เอามาทำขนมดีกว่า ก็เด็กๆ อยากกินขนมนี่หน่า คุณครูจึงช่วยคิดเมนูง่ายและชวนเด็กๆ เรียนรู้การทำขนมด้วยกันกับเมนูหวานเย็นถั่วเขียว เด็กๆ ตื่นเต้นที่ได้ทำขนมจากเมล็ดถั่วเขียวที่ปลูกเอง ช่วยกันล้าง ช่วยกันเทใส่หม้อต้ม พอสุกแล้วก็ช่วยกันตักใส่ถุงเล็กๆ เติมน้ำหวาน นำไปแช่ตู้เย็นรอให้แข็งเป็นก้อนน้ำแข็ง พอผ่านไปอีกวันเราก็นำมากินได้แล้ว เด็กๆ รู้สึกมีความสุขจัง  
 

 

เราทำเยอะเผื่อแบ่งปันให้พี่ๆ ทานด้วยกันนะคะ แล้วเมนูอาหารวันนี้ก็ยังจุดประกายให้เด็กๆ นำมาสร้างงานต่อทำขายในวันงานตลาดนัดอนุบาล วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2558 ด้วยค่ะ มีรายได้และได้อร่อยกันทั้งโรงเรียนเลยค่ะ ขอบคุณทุกคนมากๆ ค่ะ

 


วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เมื่อลูกร้องไห้


...เรื่องการร้องไห้ตอนเช้า เป็นเรื่องปกติของเด็กๆ เมื่อเข้าเรียนแรกๆ ค่ะ หากบางคนถามว่าเข้าเรียนนานแล้วทำไมยังร้องไห้อยู่อีก เราอาจจะต้องการคำตอบเรื่องนี้อยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังกังวลในหลากหลายเรื่องราว ก็ไม่เป็นไรค่ะค่อยๆ ปรับตัวไป เพียงแต่ให้ระมัดระวังเรื่องการส่งผ่านความรู้สึกความกังวล เด็กๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกับเราอาจจะได้รับความรู้สึกนั้นไปด้วยค่ะ ซึ่งเด็กๆ เองก็ต้องการปรับตัวเช่นกัน หากพ่อแม่เองไม่มั่นใจ เด็กๆ ก็คงจะขาดความมั่นใจไปเช่นกันค่ะ ขอให้เราทำงานร่วมกันบนฐานของความเชื่อมั่นค่ะ เชื่อใจและไว้ใจค่ะ
...ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่บางคนกำลังกังวลเรื่องนี้อยู่ ในฐานะที่เป็นคุณครูก็ขอแนะนำคุณพ่อคุณแม่อย่างนี้ค่ะ 
...เวลาที่มาส่งลูกที่โรงเรียน ให้คุณพ่อคุณแม่บอกว่ารักลูกและบอกว่าตอนเย็นพ่อแม่จะมารับค่ะ เมื่อพูดแล้วก็ต้องรักษาคำพูดของตนเองให้ได้ พ่อมารับก็คือพ่อ แม่มารับก็คือแม่ ลุงมารับก็คือลุง ไม่ใช่บอกว่าแม่มารับแล้วให้ยายมาแทน แบบนี้ผิดคำพูดค่ะ ทำให้เด็กๆ รู้สึกถึงความไม่มั่นคง 
...การตั้งข้อแม้ต่างๆ ทำให้เด็กๆ กังวลเพิ่มขึ้นค่ะ เช่น ถ้าดื้อแม่ไม่มารับนะ ถ้าเป็นเด็กดีแม่จะให้.. หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้บอกกับเขาตรงๆ เลยว่าอยู่กับคุณครูนะคะ เล่นกับเพื่อนๆ เดี๋ยวตอนเย็นแม่มารับ กอดและบอกรักเขา เด็กๆ ร้องไห้ก็ไม่เป็นอะไรค่ะ เป็นเพียงการแสดงความรู้สึก ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องถามว่าเป็นอะไร มีใครทำอะไร ที่โรงเรียนมีคุณครูคอยโอบกอดอยู่แล้ว พอวิถีมั่นคงแบบนี้ไปเรื่อยๆ เด็กๆ ก็จะปรับตัวได้เองค่ะ 
...และยังมีวิธีสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กๆ อีกหลายแบบค่ะ เช่น การพกพาของรัก หรือสิ่งของที่เป็นตัวแทนพ่อแม่มาด้วย.. การเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ต่างๆ มีของใช้ครบถ้วน อันนี้เรียกว่าความสมบูรณ์แบบ เช่น ถามหารองเท้าแตะก็มีรองเท้าแตะใส่ ถามหานมก็มีนมดื่ม ถามหาน้ำก็มีขวดน้ำมา แบบนี้ก็ช่วยให้เด็กๆ มีความมั่นใจมากขึ้นเช่นกันค่ะ.. การเตรียมตัวรับสถานการณ์หรือเหตุสุดวิสัย เช่น การเล่นเลอะเทอะ การขับถ่าย เตรียมเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนมาให้เด็กๆ ให้พร้อมและเพียงพอ เขาก็จะรู้สึกว่าปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้นเช่นกันค่ะ..
และที่สำคัญมาเรียนให้ทันเวลา ส่งให้คุณครูก่อนที่จะถึงเวลาทำกิจกรรม เพื่อให้เวลากับการร้องไห้ปรับตัว พอเสร็จแล้วถึงเวลาทำกิจกรรมเด็กๆ และคุณครูและเพื่อนๆ ก็จะได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติไปด้วยกันได้อย่างมีความสุขค่ะ
...อ่านมาถึงตรงคุณพ่อคุณแม่อาจจะพบคำตอบบางอย่างที่ตั้งคำถามกับตัวเองไว้ มาเรียนนานแล้วทำไมลูกยังร้องไห้อยู่ ..แน่นอนค่ะ "วิถี" มั่นคงแล้วหรือยัง เช็คทั้งวิถีของบ้านและวิถีของโรงเรียน พูดคุยทำความเข้าใจกับคุณครูที่ดูแลเด็กๆ เมื่อแนวทางของเราเป็นไปในทางเดียวกัน เด็กๆ ก็จะเรียนรู้และปรับตัวได้ดีขึ้นค่ะ