วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

เมล็ดถั่วเขียวผจญภัย

ก่อนเปิดเทอม มีนักเรียนใหม่ตัวเล็กๆ กำลังจะเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งชุมชนกาละพัฒน์ เราคิดกันว่าจะต้อนรับพวกเขาอย่างไรดีนะ เมล็ดถั่วเขียวเล็กๆ เดินผ่านเข้ามาในห้วงความคิด ก็ดีนะ คุณครูใจดีจึงก้มลงกระซิบกับเมล็ดถั่วเขียวว่าคุณครูจะพาไปรับเด็กๆ ด้วยกันนะ
 

นี่คือที่มาของเรื่องราวการเดินทางครั้งนี้


จันทร์ ที่ 27 เมษายน 2558 วันเยี่ยมบ้านก่อนเปิดเทอมเริ่มต้นขึ้น คุณครูพกรอยยิ้มไปหาเด็กๆ ที่บ้านพร้อมกับชวนพี่เมล็ดถั่วเขียว 10 เมล็ดไปรับเด็กๆ มาอยู่ที่ชุมชนกาละพัฒน์นี้ด้วยกัน กิจกรรมเยี่ยมบ้านที่แสนเรียบง่าย คุณครูวิ่งเล่นไปทั่วทั้งบ้านตามที่เด็กๆ เชิญชวน ประหนึ่งว่าเป็นเพื่อนรักกัน พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ถึงสิ่งที่เด็กๆ สนใจ ชวนเด็กๆ พาพี่ถั่วเขียวไปนอนในกระถางใบเล็กๆ แล้วบอกกับเด็กๆ ว่าให้ช่วยปลุกพี่ถั่วเขียวให้ตื่นด้วยการรดน้ำลงไปในกระถางนั้นทุกวัน เช้า-เย็น ไม่นานพี่ถั่วเขียวก็ตื่นขึ้นมาเป็นต้นอ่อนเล็กๆ น่ารัก ต้นอ่อนถั่วเขียวค่อยๆ สูงขึ้น สูงขึ้น เพื่อตามหาแสงแดดอ่อนมาหล่อเลี้ยงให้แข็งแรง ปลดปล่อยเปลือกสีเขียวๆ นั้นออก แล้วชูใบเล็กๆ ออกมาพร้อมทั้งยืดลำต้นขึ้น
 

พอถึงวันเปิดเทอม พุธ ที่ 6 พฤษภาคม 2558 ที่เด็กๆ ต้องไปโรงเรียนก็ชวนพี่ถั่วเขียวกลับมาหาคุณครูที่โรงเรียนด้วยกัน เด็กๆ รู้สึกอบอุ่นใจที่มีพี่เลี้ยงเป็นต้นถั่วเขียวเล็กๆ ติดตามมาด้วย คุณครูชวนพี่ถั่วเขียวลงในแปลงผักหลังห้องเรียน เชิญชวนให้เด็กๆ ช่วยดูแล รดน้ำ พรวนดิน ไม่นานนักพี่ถั่วเขียวก็เติบโต จนกระทั่งมีดอกสีเหลืองเล็กๆ มีแมลงต่างๆ มาร่วมชื่นชม ฝักถั่วเขียวเล็กๆ ค่อยๆ เติบโตขึ้นหลังจากที่กลีบดอกร่วงหล่นลง ไม่นานนักฝักถั่วเขียวเล็กๆ ก็ค่อยๆ อ้วนขึ้นๆ จากฝักสีเขียวเริ่มกลายเป็นฝักสีดำ

 

จันทร์ ที่ 6 กรกฎาคม 2558 คุณครูชวนเด็กๆ มาแกะดูข้างในฝักถั่วเขียว ว้าว! เจอลูกเมล็ดถั่วเขียวเล็กๆ มากมายนอนหลับอยู่ในนั้น พวกเราค่อยๆ ทยอยเก็บถั่วเขียวที่สุกแล้วทุกวันๆ จนหมดและแน่ใจว่าไม่มีฝักออกมาอีกแล้ว การกล่าวลาจึงเริ่มต้นขึ้น เด็กๆ ถามว่า ทำไมเราต้องถอนต้นถั่วเขียวออก ทำไมต้นถั่วเขียวต้องแก่ แก่แล้วก็ต้องตายใช่ไหม เด็กๆ ดูเศร้าๆ แต่ทุกคนก็ต้องยอมรับความจริง พุธ ที่ 29 กรกฎาคม 2558 เมื่อเมล็ดแตงโมเริ่มเคาะประตูเบาๆ เรียกเด็กๆ ขอฉันมาอยู่กับเด็กๆ บ้างนะ เด็กๆ ก็ตัดสินใจกล่าวลาต้นถั่วเขียวแก่อย่างเป็นทางการเสียที เด็กๆ ช่วยกันถอนต้นถั่วเขียวออกเพื่อเตรียมดินสำหรับเป็นบ้านหลังใหม่ให้เมล็ดแตงโมน้อยที่คอยอยู่ พร้อมทั้งช่วยกันพรวนดินสำรวจหาพี่กิ้งกือไส้เดือนที่นอนหลับพักผ่อนอยู่ใต้ดิน
 

วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2558 จากเมล็ดถั่วเขียวเพียงสิบเมล็ดที่เติบโตขึ้นด้วยน้ำใจจากขวดพลาสติกใบเล็กที่เด็กๆ ช่วยกันรดน้ำ ตอนนี้ได้ออกลูกมามากมายนับไม่ถ้วน ว่าแต่เด็กๆ จะนับได้เท่าไหร่นะ พวกเขาพยายามนับแล้วนับอีก เยอะจริงๆ นะ ถึงจะนับไม่ไหวแต่เด็กๆ ก็ภูมิใจจังกับการเติบโตครั้งนี้ แล้วลูกๆ เมล็ดถั่วเขียวจะเดินทางไปไหนต่อดีนะ เด็กๆ คิดอย่างไรกับเรื่องนี้
 

คิดไปคิดมาก็สรุปกันว่า เอามาทำขนมดีกว่า ก็เด็กๆ อยากกินขนมนี่หน่า คุณครูจึงช่วยคิดเมนูง่ายและชวนเด็กๆ เรียนรู้การทำขนมด้วยกันกับเมนูหวานเย็นถั่วเขียว เด็กๆ ตื่นเต้นที่ได้ทำขนมจากเมล็ดถั่วเขียวที่ปลูกเอง ช่วยกันล้าง ช่วยกันเทใส่หม้อต้ม พอสุกแล้วก็ช่วยกันตักใส่ถุงเล็กๆ เติมน้ำหวาน นำไปแช่ตู้เย็นรอให้แข็งเป็นก้อนน้ำแข็ง พอผ่านไปอีกวันเราก็นำมากินได้แล้ว เด็กๆ รู้สึกมีความสุขจัง  
 

 

เราทำเยอะเผื่อแบ่งปันให้พี่ๆ ทานด้วยกันนะคะ แล้วเมนูอาหารวันนี้ก็ยังจุดประกายให้เด็กๆ นำมาสร้างงานต่อทำขายในวันงานตลาดนัดอนุบาล วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2558 ด้วยค่ะ มีรายได้และได้อร่อยกันทั้งโรงเรียนเลยค่ะ ขอบคุณทุกคนมากๆ ค่ะ

 


วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เมื่อลูกร้องไห้


...เรื่องการร้องไห้ตอนเช้า เป็นเรื่องปกติของเด็กๆ เมื่อเข้าเรียนแรกๆ ค่ะ หากบางคนถามว่าเข้าเรียนนานแล้วทำไมยังร้องไห้อยู่อีก เราอาจจะต้องการคำตอบเรื่องนี้อยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังกังวลในหลากหลายเรื่องราว ก็ไม่เป็นไรค่ะค่อยๆ ปรับตัวไป เพียงแต่ให้ระมัดระวังเรื่องการส่งผ่านความรู้สึกความกังวล เด็กๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกับเราอาจจะได้รับความรู้สึกนั้นไปด้วยค่ะ ซึ่งเด็กๆ เองก็ต้องการปรับตัวเช่นกัน หากพ่อแม่เองไม่มั่นใจ เด็กๆ ก็คงจะขาดความมั่นใจไปเช่นกันค่ะ ขอให้เราทำงานร่วมกันบนฐานของความเชื่อมั่นค่ะ เชื่อใจและไว้ใจค่ะ
...ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่บางคนกำลังกังวลเรื่องนี้อยู่ ในฐานะที่เป็นคุณครูก็ขอแนะนำคุณพ่อคุณแม่อย่างนี้ค่ะ 
...เวลาที่มาส่งลูกที่โรงเรียน ให้คุณพ่อคุณแม่บอกว่ารักลูกและบอกว่าตอนเย็นพ่อแม่จะมารับค่ะ เมื่อพูดแล้วก็ต้องรักษาคำพูดของตนเองให้ได้ พ่อมารับก็คือพ่อ แม่มารับก็คือแม่ ลุงมารับก็คือลุง ไม่ใช่บอกว่าแม่มารับแล้วให้ยายมาแทน แบบนี้ผิดคำพูดค่ะ ทำให้เด็กๆ รู้สึกถึงความไม่มั่นคง 
...การตั้งข้อแม้ต่างๆ ทำให้เด็กๆ กังวลเพิ่มขึ้นค่ะ เช่น ถ้าดื้อแม่ไม่มารับนะ ถ้าเป็นเด็กดีแม่จะให้.. หรืออะไรก็แล้วแต่ ให้บอกกับเขาตรงๆ เลยว่าอยู่กับคุณครูนะคะ เล่นกับเพื่อนๆ เดี๋ยวตอนเย็นแม่มารับ กอดและบอกรักเขา เด็กๆ ร้องไห้ก็ไม่เป็นอะไรค่ะ เป็นเพียงการแสดงความรู้สึก ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องถามว่าเป็นอะไร มีใครทำอะไร ที่โรงเรียนมีคุณครูคอยโอบกอดอยู่แล้ว พอวิถีมั่นคงแบบนี้ไปเรื่อยๆ เด็กๆ ก็จะปรับตัวได้เองค่ะ 
...และยังมีวิธีสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กๆ อีกหลายแบบค่ะ เช่น การพกพาของรัก หรือสิ่งของที่เป็นตัวแทนพ่อแม่มาด้วย.. การเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ต่างๆ มีของใช้ครบถ้วน อันนี้เรียกว่าความสมบูรณ์แบบ เช่น ถามหารองเท้าแตะก็มีรองเท้าแตะใส่ ถามหานมก็มีนมดื่ม ถามหาน้ำก็มีขวดน้ำมา แบบนี้ก็ช่วยให้เด็กๆ มีความมั่นใจมากขึ้นเช่นกันค่ะ.. การเตรียมตัวรับสถานการณ์หรือเหตุสุดวิสัย เช่น การเล่นเลอะเทอะ การขับถ่าย เตรียมเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนมาให้เด็กๆ ให้พร้อมและเพียงพอ เขาก็จะรู้สึกว่าปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้นเช่นกันค่ะ..
และที่สำคัญมาเรียนให้ทันเวลา ส่งให้คุณครูก่อนที่จะถึงเวลาทำกิจกรรม เพื่อให้เวลากับการร้องไห้ปรับตัว พอเสร็จแล้วถึงเวลาทำกิจกรรมเด็กๆ และคุณครูและเพื่อนๆ ก็จะได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติไปด้วยกันได้อย่างมีความสุขค่ะ
...อ่านมาถึงตรงคุณพ่อคุณแม่อาจจะพบคำตอบบางอย่างที่ตั้งคำถามกับตัวเองไว้ มาเรียนนานแล้วทำไมลูกยังร้องไห้อยู่ ..แน่นอนค่ะ "วิถี" มั่นคงแล้วหรือยัง เช็คทั้งวิถีของบ้านและวิถีของโรงเรียน พูดคุยทำความเข้าใจกับคุณครูที่ดูแลเด็กๆ เมื่อแนวทางของเราเป็นไปในทางเดียวกัน เด็กๆ ก็จะเรียนรู้และปรับตัวได้ดีขึ้นค่ะ  

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เดินต่อแถว

   ความเป็นผู้เป็นคนไม่ได้มาจากทรัพย์สินเงินทอง หากแต่มาจากกิริยาท่าทาง ศรัทธาที่มาจากข้างในของชาวฉือจี้ ทำให้ชุมชนคนทำดีแห่งนี้ดูแข็งแกร่ง น่าเชื่อถือ
      ชาวฉือจี้ถือเรื่องวินัยเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเช่นเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างเล็กๆ ที่คนทั่วไปสามารถทำได้ไม่ยาก 
       ทุกครั้งที่มีการเดินไปไหนมาไหนเป็นหมู่คณะ ทุกคนก็จะเดินต่อแถวกันเป็น 2 แถวแบบที่เห็นในภาพ ผู้ชายเดินนำหน้าผู้หญิงเดินต่อหลัง แล้วก็ไม่ส่งเสียงคุยกันจ๊อกแจ๊ก ระหว่างทางเมื่อเดินผ่านผู้คนสวนไปมาก็จะทักทายโค้งคำนับพร้อมกับส่งยิ้มให้กันเสมอ ทุกครั้งที่เราก้าวเข้าไปในดินแดนแห่งใดของฉือจี้ก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีวิทยุ ... ทุกคนก็จะต้องปฏิบัติตามวินัยที่คนในชุมชนนี้เขาทำกัน ถ้าอยู่ที่นี่สักพักเราก็จะซึมซับความมีวินัยเข้าไปเอง
       ที่เห็นในภาพนี้ แต่งตัวกันแบบนี้ เขาเรียกตัวเองว่า จิตอาสา ตอนที่เห็นนี้เขากำลังเดินต่อแถวไปขึ้นรถเพื่อจะไปช่วยดูแลคนไข้ที่โรงพยาบาล ไปพูดคุยให้กำลังใจคนป่วย .. อะไรประมาณนั้นค่ะ 
      วินัย...สร้างคนให้งดงาม หากเมื่อเรามีวินัยในตนเอง ไม่ต้องเอ่ยปากสอนใครใดๆ คนก็ศรัทธาได้ หรือหากเมื่อต้องสอนใคร ก็แน่นอนว่า คนอื่นก็จะเชื่อมั่น ศรัทธาได้ง่ายๆ เช่นกัน

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตะเกียบ

          ใครๆ ก็คงเคยใช้ตะเกียบคีบอาหาร คงไม่ได้คิดอะไรมากมาย พอได้มาฟังเรื่องเล่าของชาวฉือจี้ แล้วก็ต้องคิดใหม่อีกครั้งค่ะ ว่า พวกเราน่าจะคิดอะไรได้เยอะกว่านี้ ไม่รู้ว่าจะเริ่มเล่าจากตรงไหนดี 
           เอาเป็นว่า ชาวฉือจี้เขาจะพยายามไม่ใช้อะไรที่ใช้ได้เพียงชั่วคราว ทุกอย่างจะมองไกลไปข้างหน้าเสมอ นึกถึงคนข้างหลัง ไม่เคยที่จะคิดแล้วทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เวลาจะรับประทานอาหารก็จะเห็นชาวฉือจี้หยิบตะเกียบส่วนตัวออกมาจากกระเป๋าของตนเอง เขาพกไปไหนมาไหนด้วยเสมอทุกครั้ง (เหมือนกับแก้วน้ำส่วนตัว) ตะเกียบของคนทุกคนที่นี่เป็นตะเกียบแบบอลูมิเนียม ดูสะอาด ปลอดภัย ไม่มีเชื้อราฝัง และที่สำคัญมากๆ ไปกว่านั้น คือ ถ้าเราใช้ตะเกียบไม้ คนทำเขาตัดต้นไม้มาทำ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็สิ้นเปลืองไม้ ต้นไม้ทุกต้นมีคุณค่าต่อเราต่อโลก ต้นไม้หรือพืชเป็นสิ่งเดียวที่ผลิตออกซิเจนให้ทุกคนใช้ในกระบวนการหายใจ ถ้าเราตัดต้นไม้ก็ไม่ต่างอะไรกับเราตัดลมหายใจของตนเอง บางครั้งเราก็พบว่าเราใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองเกินไป ต้นไม้ใช้เวลาสะสมพลังจากธรรมชาตินับสิบๆ ปีกว่าจะเติบโตขึ้นมาได้ เราตัดมาเหลาๆ ใช้คีบอาหารกินสิบนาทีก็โยนทิ้ง...

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กระบอกไม้ไผ่

          จุดเริ่มต้นของความเป็นฉือจี้ เริ่มมาจากกระบอกไม้ไผ่นี่แหละ ก็คือว่า ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนท่านมีใจอยากจะช่วยเหลือคนที่ลำบาก ท่านก็เก็บออมเงินด้วยตนเอง แบ่งค่ากับข้าวใแต่ละวันหยอดลงในกระบอกไม้ไผ่ทุกวันทุกวัน จนสามารถนำเงินนั้นไปช่วยเหลือคนได้ เหล่าแม่ชีลูกศิษย์ของท่านเห็นก็ศรัทธาในความพยายามของท่านก็ทำเช่นกัน พวกแม่บ้านคนอื่นๆ ก็เกิดศรัทธาทุกคน เก็บออมเงินหยอดลงในกระบอกไม้ไผ่ทุกวัน พอได้เต็มก็เอามารวมกัน ส่งไปช่วยเหลือคนที่ลำบาก คนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ 
         เริ่มจากจุดเล็กๆ จนกลายมาเป็นศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ เป็นเพราะว่า ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนท่านไม่มัวแต่เฝ้าถามว่าเป็นหน้าที่ของใคร ใครจะช่วย ทำไมคนที่มีหน้าที่เหล่านั้นไม่ทำอะไรเลย ... ป่วยการที่เราจะเฝ้าตามหา ท่านลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค 
         คนเราเพียงแค่ลงมือทำ ทุกอย่างก็จะสำเร็จได้ในไม่ช้า หากผิดพลาดไปก็เริ่มใหม่ ไม่มีคำว่าสาย ..อย่าได้เที่ยวหาคำอื่นใดมาเป็นอุปสรรคให้กับชีวิต ลดความเป็นตัวตนลง ทำทุกอย่างเสมือนว่าเป็นสิ่งที่ตนเองต้องทำ (จริงๆ แล้วกระบอกไม้ไผ่มันไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้นหรอกนะ ..)

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

ความสุข..ความเศร้า

        เรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่ใครๆ ก็บอกว่าดีมากๆ พออ่านแล้วมันก็ดีมากๆ จริงๆ นั่นแหละ แต่ไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วกะทิมีความสุขหรือเปล่า ตอนไหนบ้างนะ
                     
         จะว่าเป็นหนังสือที่แปลกมากๆ เรื่องหนึ่งก็ว่าได้นะคะ รู้สึกว่า ตอนที่อ่านก็อ่านไปด้วยแบะปากไปด้วย แบะปากที่ว่าก็คือจะร้องไห้ อ่านไปน้ำตาก็ไหลเป็นระยะๆ บันทัดแรกของทุกๆ ตอน มันมีอิทธิพลมาก ประโยคเดียวเท่านั้น ไม่รู้ว่าจะกินใจอะไรนักหนา เศร้า..ซะจน จนอ่านต่อแทบไม่ได้  ไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จะเป็นเหมือนกันบ้างไหมนะ 

        น่าสงสารกะทิ ที่ต้องรู้สึกว่า..แม่..ไม่เคยนั่น...ไม่เคยนี่..ไม่เคยโน่น ...สารพัดจะไม่เคย..บางทีเราอาจเคยรู้สึกแบบนั้นก็ได้ ถึงได้รู้สึกเจ็บปวดมากขนาดนี้ หรือว่าคนเขียนจงใจจะสั่นสะเทือนหัวใจคนอ่านก็ไม่รู้ กะทิเศร้าซะจนไม่รู้ว่าจะสุขได้อย่างไร แต่สุดท้ายแล้วคนแต่งเรื่องก็ยังอุตส่าห์มาเล่าว่ากะทิมีความสุข จริงๆ แล้วน่าจะบอกว่า..กะทิพยายามมีความสุข..มากกว่า เอ๊ะ..หรือว่ายังไง แปลกหรือว่าเรางง???
 

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ข้าวแห้ง

      ต่อจากเรื่องที่แล้ว ที่ค้างไว้นะคะ เขาว่ากันว่าคนบางคนมีมากจนมองไม่เห็นว่าของเล็กๆ น้อยๆ บางทีมันก็มีคุณค่ามากทีเดียว แม่ชีคนหนึ่งในสมณรามของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ท่านเล่าให้ฟังว่า... (เขาพูดภาษาไต้หวันฟังไม่ออกหรอก) ไกค์เขาแปลมาอีกทีค่ะ
       เรื่องมีอยู่ว่า "มีเศรษฐีท่านหนึ่ง รับประทานอาหารเหลือทุกวันๆ แต่ท่านก็ยังใจดี แบ่งข้าวที่เหลือมาให้ที่วัดทุกวันๆ เหล่าแม่ชีทั้งหลายมีอาหารรับประทานเองอยู่แล้วโดยการทำงานเลี้ยงชีพ ปลูกข้าวเอง ปลูกผักเอง และทำงานหาเงินเองเพื่อใช้ในการเลี้ยงชีพ ที่สมณรามแห่งนี้ไม่รับถวายปัจจัยใดๆ แต่รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ประสบภัย ส่วนข้าวที่ท่านเศรษฐีแบ่งมาให้ เหล่าแม่ชีทั้งหลายท่านก็นำไปตากแห้งไว้ เพื่อใช้ประโยชน์ช่วยเหลือผูู้อื่น แต่แล้ววันหนึ่งที่บ้านท่านเศรษฐีเกิดไฟไหม้ขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปในพริบตา ท่านเศรษฐีกลายเป็นผู้ประสบภัยซะเอง ไม่มีกระทั่งอาหารประทังชีวิต ท่านเข้ามาอาศัยเพิ่งใบบุญจากสมณราม เหล่าแม่ชีก็นำอาหารมาให้ท่านรับประทาน แม่ชีบอกกับท่านว่านี่เป็นข้าวของท่านเองที่ท่านบริจาคมาให้กับทางวัดทุกวันๆ เราไม่ได้ทิ้งขว้างไปไหนแม้แต่เมล็ดเดียว หากแต่เก็บมาตากแห้งไว้เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ประสบภัย ท่านเศรษฐีซาบซึ้งจนน้ำตาไหลพราก พราก พราก" หลังจากนั้นท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนก็คิดค้นสูตรและเสริมคุณค่าทางอาหารเข้าไปแล้วทำผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาอันนี้ก็คือ "ข้าวแห้ง" นั่นเอง ท่านทำขึ้นมาเพื่อบริจาคช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ประสบภัย บางส่วนก็ขาย เงินที่ขายได้ก็บริจาคช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยอีกนั่นแหละ 
      เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า รับประทานข้าวให้หมดทุกเมล็ดเลยนะ อย่าเหลือทิ้งขว้างหากว่าเราไม่ได้เก็บมาใช้ประโยชน์อะไร ข้าวแต่ละเมล็ดที่เราล้างทิ้งไปหากเก็บมารวมกันแล้ว คงกลายเป็นภูเขาขนาดย่อมๆ ได้เลย ลองคิดตามดูว่า สมมติเราเหลือสัก 10 เมล็ด ถ้าบ้านเรามีสามคนรวม 30 เมล็ด ถ้าหมู่บ้านหนึ่งมี 100 หลังคาเรือน ทิ้งเรือนละ 30 เมล็ด ทุกวันทุกวัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน หรือ 1 ปี จะเกิดอะไรขึ้น ...???? ครั้งหนึ่งชาวฉือจี้เคยมาช่วยเหลือคนไทยผู้ยากไร้ที่ภาคเหนือ เขาบอกว่าเวลาที่ชาวฉือจี้ไปช่วยเหลือที่ใด ก็จะถือโอกาสสอนผู้ยากไร้หรือผู้ประสบภัยเหล่านั้นด้วย เขานำข้าวสารมาให้ชาวเขาและสอนด้วยว่าทุกครั้งที่หุงข้าวกิน ให้นึกถึงว่าข้าวนี้มีคนให้มา ต้องไม่กินทิ้งขว้าง ยังมีคนอีกมากมายที่ยังต้องอดข้าว ปรากฏว่าชาวเขาคนนี้ก่อนที่จะหุงข้าวทุกๆ มื้อ เขาจะตวงข้าวมาหนึ่งถ้วย แล้วเอามือกำข้าวสารขึ้นมาก่อนหนึ่งกำใส่ไว้ในโอ่งเปล่าใบหนึ่ง ทำแบบนี้ทุกวันๆ ในที่สุด ชาวเขาผู้ยากไร้คนนี้ก็สามารถที่จะมีข้าวเต็มโอ่งนำไปบริจาคต่อให้กับผู้ยากไร้และผู้ประสบภัยคนอื่นๆ ได้ คนเราควรรับประทานแต่พอดี สัก 80% ก็พอ ไม่ต้องให้อิ่มมาก ถ้าอิ่มมากก็มีปัญหาอ้วนอีก โรคภัยต่างๆ ก็จะตามมา